About

ความเป็นมา

สารจากนายกสภา

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

การจัดแสดงอุปรากรเยาวชนเรื่อง ขบวนการนกกางเขนจากพระราชนิพนธ์แปลของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาในครั้งนี้ มิเพียงแต่เป็นการทำงานศิลปะที่มุ่งเน้นถึงความสวยงามของการผสมผสานดนตรี ละคร การเคลื่อนไหว และภาพ หากแต่ยังเป็นการนำเอาผู้คนที่มีความแตกต่าง มาอยู่ร่วม และสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยกัน บุคคลเหล่านี้ ประกอบไปด้วยกลุ่มเยาวชนจากชุมชนบางยี่ขัน นักศึกษาสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ผู้กำกับ ผู้ฝึกสอนละคร ผู้ฝึกสอนการเต้น ผู้ประพันธ์ดนตรี สี แสง เสียง และบุคลากรในด้านอื่นๆ อีกมากมาย

มิตรภาพในงานศิลป์ ที่นำไปสู่การบรรจบรวมกันเป็นการแสดงเพียงหนึ่งเดียวในครั้งนี้ เกิดขึ้นก็ด้วยเจตนาอันมุ่งมั่น ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ที่จะน้อมถวายพระเกียรติองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาที่ได้ทรงพระราชทานให้กับสถาบันฯ มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มต้นการก่อตั้งสถาบันฯ โดย ได้ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ในโครงการก่อตั้งสถาบันฯ รวมทั้ง ยังได้พระราชทานนามอาคาร ‘คีตราชนครินทร์’ ของกรมศิลปากร เพื่อให้สถาบันฯ ได้ใช้เป็นพื้นที่ในการจัดการเรียนการสอน

ในแง่มุมของผู้อ่าน ผู้ชม บทพระราชนิพนธ์บทนี้ สะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพของเยาวชนที่แม้มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ฐานะ หากแต่สามารถอยู่ร่วมกัน มีจินตนาการ ร่วมเดินทางและผจญภัยไปด้วยกันอย่างสมัครสมานสามัคคี เสียสละ และรักใคร่กลมเกลียว ซึ่งไม่ต่างไปจากประสบการณ์ของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ พวกเขาได้เรียนรู้จากครู ซึมซับจากพี่ และแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ทั้งจากชุมชน และโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่บางยี่ขัน ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ ย่อมที่จะบ่มเพาะ ให้เขา เติบโตไปเป็นทรัพยากรของชาติที่มีคุณค่า มีความสามัคคี และมีจิตใจ ที่ประณีตละเอียดอ่อน สมดังพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการที่จะพัฒนาดนตรีเพื่อเป็นสื่อกลางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ให้มีความทัดเทียมกับนานาชาติ ได้อย่างยั่งยืน

 

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร
นายกสภาสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

สารจากประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการ

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้จัดการแสดงอุปรากรเรื่อง ขบวนการนกกางเขน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ นี้จากเรื่อง ขบวนการนกกางเขน เป็นนิยายภาษาฝรั่งเศส Rossignols en Cage ของ Madeleine Treherne ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงอ่านเมื่อครั้งที่ทรงศึกษาอยู่ชั้นปีที่ ๑ ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขบวนการนกกางเขน เป็นเรื่องของเยาวชน ๘ คน ที่แม้จะมี พื้นฐานที่แตกต่างกัน แต่ก็ได้มาพบและเป็นเพื่อนกันทำกิจกรรมร่วมกัน สนุกสนานและผจญภัยด้วยกัน ซึ่งจุดนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของเด็กๆ ที่แม้ว่าจะมาจากต่างพื้นเพกัน แต่เมื่อเจออุปสรรคและปัญหาก็ร่วมกันแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

การที่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้นำบทพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ขบวนการนกกางเขน มาสร้างเป็นอุปรากรเยาวชนโดยมีสมาชิกวงดุริยางค์เยาวชนของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา นักศึกษาของสถาบันฯ และเยาวชนจากชุมชนบางยี่ขัน ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้กับสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา มาร่วมบรรเลงและร้องเพลงในโครงการนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น กำลังใจของเยาวชน ที่อยากจะทำกิจกรรมเพื่อสังคม และเพื่อที่จะสืบสานความรัก ความสนใจในด้านดนตรีร่วมกับสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจด้านการบริการสังคม ให้ความร่วมมือกับชุมชน ในการที่จะเสริมสร้างพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะทางด้านดนตรี และนำดนตรีไปเป็นสื่อกลางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังปรัชญาของสถาบันฯ ที่จะเป็น ‘ดนตรีแห่งชีวิต ดนตรีแห่งแผ่นดิน’ ของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

 

รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา
ประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการ
สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

สารจากอธิการบดี

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมี พระมหากรุณาต่อสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาเป็นล้นพ้น นับตั้งแต่แรกก่อตั้งในปี พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ได้ทรงรับเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ของโครงการฯ และได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่ตั้งสำหรับสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นโรงงานสุราบางยี่ขันเดิม จนกระทั่งได้มีการปรับปรุงอาคารต่างๆ เพื่อเป็นสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาในปัจจุบัน

ในวาระศุภมงคลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของสถาบันฯ จึงร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาของพระองค์ท่าน ด้วยการสร้างสรรค์งานอุปรากรเยาวชนทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ โดยสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต นำบทพระราชนิพนธ์แปลจากวรรณกรรมภาษาฝรั่งเศสเรื่อง ขบวนการนกกางเขน ชื่อภาษาฝรั่งเศสคือ Rossignols en Cage ประพันธ์โดย Madeleine Treherne มาสร้างเป็นอุปรากรเยาวชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนจากพื้นที่ชุมชนบางยี่ขัน ได้เข้ามาเรียนรู้ดนตรี และการแสดงร่วมกับนักศึกษาของสถาบันฯ เป็นระยะเวลากว่าหกเดือน ที่นักศึกษาของสถาบันฯ มีส่วนร่วมในการฝึกสอนและฝึกซ้อมเยาวชน รวมทั้งบุคลากรของสถาบันก็เป็นกลไกสำคัญในการสร้างสรรค์งานดนตรี และนำเสนอโดยวงดุริยางค์เยาวชนของสถาบันฯ ซึ่งการดำเนินงานโครงการนี้ จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจของเยาวชนรุ่นใหม่ ถึงศักยภาพของดนตรี ในการที่จะเป็นสื่อกลางการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ระหว่างผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย และเสริมสร้างจิตใจแห่งความโอบอ้อมอารีและความสามัคคี ให้กับเยาวชน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในคำนำว่า “เป็นการแสดงความรักของเพื่อนต่อเพื่อน มิตรภาพนั้นเป็นความรู้สึกที่งดงาม เป็นสากล มิได้ขึ้นกับเชื้อชาติภาษา หรือแม้แต่วิถีชีวิตของแต่ละคน” ดังนั้น เยาวชนที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ หรือได้ชม เมื่อได้เรียนรู้และน้อมรับไปปฏิบัติในสังคมไทยก็สามารถ ที่จะพัฒนาไปสู่ความสงบสุขและรุ่งเรือง ดังพระโอวาทของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่พระราชทานไว้ว่า “การสร้างความร่วมมือร่วมใจของเยาวชน เพื่อที่จะส่งเสริมสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและ ส่วนรวม จึงเป็นการริเริ่มที่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมนำไปสู่การพัฒนาตนเอง ชุมชนและ ประเทศชาติต่อไปในอนาคต”

 

รองศาสตราจารย์ คุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์
อธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

Rossignols en Cage/Robins in Cage

เรื่องย่อ ขบวนการนกกางเขน

กลุ่มขบวนการนกกางเขน อันประกอบด้วยเด็กๆวัยซนอย่าง ฌองหลุยส์ ริโก รีรี่ แบร์นาร์ด มาริเต้ อานแนตและ ซูแซต พวกเขามักรวมตัวออกหากิจกรรมสนุกๆทำด้วยกันกลางแจ้ง แต่เมื่อฤดูหนาวมาถึง ก็ได้เวลาที่ขบวนการนกกางเขนต้องหาที่ทำการใหม่ ฌองหลุยส์จึงพาเพื่อนๆแอบมาสำรวจห้องใต้ดินในบ้านหลังใหญ่ของเจ้าชายชราท่าทางแปลกๆที่ชื่อติเตสโก ซึ่งเป็นที่ที่เขากับแม่เองได้มาอาศัยอยู่ แต่สิ่งที่ขบวนการนกกางเขนทำไม่รอดพ้นสายตาของเจ้าชายน้อยนิโกลาส์หลานปู่ของเจ้าชายติเตสโกแห่งโรมาเนีย ที่แอบเฝ้ามอง และอยากเป็นเพื่อนในกลุ่มขบวนการนกกางเขนมานานแล้ว ในที่สุดนิโกลาส์ตามกลุ่มนกกางเขนลงไปยังห้องใต้ดินและได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มในที่สุด ขบวนการนกกางเขนมีแผนการอยากทำแผนที่ของห้องใต้ดิน ในขณะที่พวกเขาช่วยกันวัดพื้นที่ ประตูห้องใต้ดินก็ถูกล๊อคจากข้างนอกโดยแม่ของฌองหลุยส์ที่เธอไม่รู้ว่ามีเด็กๆติดอยู่ในนั้น ขบวนการนกกางเขนพยายามหาทางออกโดยสำรวจห้องใต้ดินชั้นต่อๆมา แต่กลับไปเจอหีบลึกลับที่ดูเหมือนหีบศพเด็ก


ฝ่ายพ่อแม่ผู้ปกครองเมื่อพบว่าเด็กๆหายไปไม่กลับมาบ้านทำให้ร้อนใจพากันไปแจ้งตำรวจ จึงรู้ว่าครูปาสซาต์ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ได้ให้เด็กๆยืมตลับเมตรไปวัดทำแผนที่ห้องใต้ดิน แม่ฌองหลุยส์นึกได้ว่าเธอเผลอล็อคประตูจึงพาพวกผู้ใหญ่ตามไปเจอเด็กๆในสภาพที่อ่อนล้า อันนาแม่บ้านของเจ้าชายติเตสโกพาทุกคนมาพักที่ห้องรับแขก เมื่อเจ้าชายติเตสโกรู้ว่ามีหีบน่าสงสัยซ่อนอยู่ที่ห้องใต้ดิน เขากับพ่อริโกซึ่งเป็นชาวซิซิลีที่ยากจน จึงพากันลงไปค้นหาความจริง แต่เมื่อนำหีบขึ้นมาเปิดดูจึงพบว่าหีบนั้นเป็นหีบสมบัติเก่าของเจ้าชาย ติเตสโกที่มีผู้เก็บซ่อนไว้นั่นเอง

 


A gang of active young children calling themselves “The Robins” comprising Jean-Louis, Rico, Riri, Bernard, Marité, Annette, and Suzette enjoy outdoor outings. When winter is around the corner, the Robins need to find new headquarters. Jean-Louis thus takes his friends to explore the basement of the building belonging to Titesco, the weird old prince from Romania, where his mother and he himself are residing. The Robins’ movement is closely monitored by young Prince Nicolas, Titesco’s grandson, who long to join the gang. Nicolas eventually follows the Robins into the basement and become a member. The Robins’ mission is to draw the layout of the basement. Unfortunately, while they are busy taking measurements there, they are locked in, unknowingly, by ’ mother. The Robins, thus, need to find their way out of the basement. They begin the thorough exploration of the basement and finally find a mysterious-looking trunk, very similar to a child’s coffin.

At the same time, all the parents are anxious to find their children missing. They decide to report to the police. They learn that M. Passat, the history teacher, has lent the children his measuring tape. Jean-Louis’ mother then realize that she might have locked the children in. They all rush to check the basement and find the children, all exhausted. Anna, Titesco’s housekeeper, take everyone to the living room. Once informed about the mysterious-looking trunk. Titesco and Rico’s father, a poor Sicilian, go down to investigate. They bring the trunk upstairs and discover Titesco’s old long-lost treasure.

Rossignols en Cage
from Literature to Children Opera by Rassami Paoluengtong
by Rassami Paoluengtong

ขบวนการนกกางเขน
(จากบทพระราชนิพนธ์แปล สู่การแสดงอุปรากรเยาวชน) โดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง

ขบวนการนกกางเขน ประกอบด้วยเด็กๆ จากที่มาอันหลากหลาย ตั้งแต่ลูกของแรงงานข้ามชาติจากเกาะซิชิลี หลานของเจ้าชายพลัดถิ่นจากโรมาเนีย ลูกของแม่หม้ายจากสงคราม อินโดจีน สาวน้อยแก่นแก้วผู้หลงใหลประวัติศาสตร์ เด็กแฝดกำพร้า และลูกชายหญิงของผู้จัดการโรงเรียน ท่ามกลางความแตกต่างทางฐานะ พวกเขาเล่นด้วยกัน ถกเถียงหยอกล้อกัน และช่วยกันใฝ่หาเรื่องราวการผจญภัยใหม่ๆ ตามประสาเด็กที่เต็มไปด้วยความใคร่รู้ใคร่ทดลอง ท้าทาย ความสามารถในการแก้ปัญหา การเผชิญหน้ากับอุปสรรค และเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ซึ่งอาจทำให้ต้องตกอยู่ในอันตราย

วรรณกรรมเยาชนเล่มเล็กๆจากยุค ๑๙๖๐ นี้ สะท้อนร่องรอยผลสะเทือนจากสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๕ สงครามที่กินเวลายาวนานถึง ๖ ปี คร่าชีวิตมนุษย์ทั้งทหารและพลเรือนเป็นจำนวน ๖๐-๘๐ ล้านคน เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนขั้วใหม่ ในการเมืองโลก คนรุ่นใหม่กำลังจะเติบโตขึ้น และสร้างอนาคตที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน เจ้าชายตัวน้อยที่ครอบครัวต้องออกนอกประเทศเพราะการปฏิวัติ กลับปลาบปลื้มกับเด็กหญิงที่ไม่ยอมรับว่าโลกนี้มีเจ้าชาย ส่วนเด็กต่างชาติที่ยากจนขัดสนที่สุดในกลุ่ม กลับกลายเป็นวีรบุรุษของเพื่อนๆ

 

โลกของเด็ก

แตกต่างจากโลกของผู้ใหญ่

เด็กๆ แห่งชุมชนบางยี่ขัน ก็ไม่ต่างจากเด็กๆ แห่งเกาะลิลแซ็งต์หลุยส์กลางแม่น้ำแซน พวกเขาต้องการเพื่อนที่รู้ใจ ได้รวมกลุ่มกันเล่นตามประสาวัยซน คือการเรียนรู้ชีวิตที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ โดยมีการเล่นสนุกเป็นแบบฝึกหัด การเรียนรู้ของขบวนการนกกางเขน มิใช่เพียงท่องจำจากสิ่งที่ครูพร่ำบอกในห้องเรียน หากคือการผสมผสานตำรา เข้าสู่การลงมือค้นหาเพิ่มเติมด้วยตัวเอง พวกเขาตื่นเต้นกับความรู้เรื่องเมืองใต้ดินของปารีสที่ครูได้จุดประกายไว้ การผจญภัยไปในอาณาบริเวณที่ไม่รู้จัก ย่อมต้องอาศัยความกล้า และไม่กลัวไปก่อนล่วงหน้า ต่อสิ่งที่ยังมาไม่ถึง

จากจุดเริ่มต้นเมื่อ ๖ เดือนที่แล้ว เด็กๆ “นักแสดง” เหล่านี้ ได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองตัวเอง จนสามารถ มายืนอยู่บนเวทีได้อย่างมั่นใจ และเต็มไปด้วยความรับผิดชอบ ๖ เดือนที่แล้ว ห้องทำกิจกรรมวุ่นวาย ไม่มีใครฟังใคร ไม่มีวินัย สมาธิสั้นอย่างน่าตกใจ บางคนขี้อายจนตัวเกร็งไปหมด เมื่อต้องออกมายืนอยู่หน้าห้อง โดยยังไม่ทันต้องพูดอะไรด้วยซ้ำ จากที่เคยยืนพูดตัวแข็งทื่อ โดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังพูดอะไรออกมา มาถึงวันนี้ เขาพูดจาฉาดฉาน เสียงดังฟังชัด

 

ทั้งเราและเขา ต่างแปลกใจ

กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขาในวันนี้

เด็กแต่ละคนมีจุดเปลี่ยนที่แตกต่างกันไป นั่นเป็นผลจากการสะสมเชิงคุณภาพ แบบฝึกหัดอันหลากหลาย ทั้งเขียน พูด วาด ประดิษฐ์ เต้น ร้องเพลง ท่องและทำความเข้าใจกับบท ซ้อมแล้วซ้อมเล่า ประโยคเดิม สถานการณ์เดิม เรื่องราวเดิมๆ ในห้องซ้อมห้องเดิม จนกระทั่งเปลี่ยนจากความเบื่อมาเป็นความเข้าใจ เด็กๆ ค่อยเรียนรู้การมีพันธกิจร่วมกัน โดย ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แม้ว่าแต่ละคนมีความพร้อมไม่เท่ากัน แต่เขาเริ่มตระหนักว่า การโอบอุ้มประคับประคองซึ่งกันและกัน จะพาเขาไปสู่เป้าหมายที่รออยู่เบื้องหน้าได้เสมอ

การเลือกมาร่วมโครงการในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กๆ ซึ่งมาจากชุมชนด้อยโอกาส พวกเขามีภารกิจ หลายด้าน ต้องเลี้ยงน้อง ดูแลป้อนข้าวทวดที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องทำงานบ้าน หรือไปรับจ้างทำงานหลังจากเลิกเรียน ชีวิตพวกเขาต้องดิ้นรน ด้วยวัยที่กำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น หลายคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ถูกคุมขังบ้าง เสียชีวิตบ้าง แยกทางกันบ้าง พวกเขาต้องแข็งแกร่งกันไม่น้อยเลยที่จะพยุุงตัวเองไม่ให้พลัดหลงไปสู่ความเสี่ยงของหนทางมืดดำ ซึ่งกวักมือเรียกอยู่รอบตัว

เรื่องราวแห่งมิตรภาพและความฝันของขบวนการนกกางเขน คงจะซึมซับอยู่ในตัวพวกเขา แม้เมื่อละครจบลงแล้ว หลายต่อหลายครั้ง หลายต่อหลายโครงการที่ศิลปะได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในจิตใจ เป็นแหล่งพักพิง สำหรับเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ในค่ายอพยพผู้พลัดถิ่น ในศูนย์เยียวยาผู้ถูกข่มเหง ในสถานพินิจ ในชนบท ห่างไกลการเหลียวแล ในสภาพแวดล้อมที่เขาเลือกไม่ได้ พลังแห่งความสร้างสรรค์ที่หลับใหล ได้รับการปลุกให้ตื่น เพื่อจะตระหนักว่าชีวิตมีความหมาย มีคุณค่า และมีประโยชน์

เราผู้จุดประกายให้แก่เขา คงไม่ปล่อยให้เขากลายเป็นเพียงพลุที่สว่างวาบเพียงครั้งเดียว แล้วดับมอด ลงชั่วกาลนาน

 


The ‘Rossignols’ consists of children from various background : son of a Sicilian migrant worker, grandson of a Romanian prince in exile, a war widow’s only son, a naughty girl fascinated by the French history, twin orphans, and a couple of siblings from a nouveau-bourgeois family. Though different in upbringings, together they play, argue, tease, and constantly look for new adventure, take up new challenges that incessantly test their guts in solving problems when confronted with unexpected obstacles or risks.

This 1960s youth literature reflects the aftermath of World War II which ended in 1945. A war that spanned 6 years, took 60 - 80 millions lives of soldiers and civilians, then led to the critical, transitional period of a new phase of world politics. A new generation had emerged, restructure a future different from that of their parents’ order : the little prince whose family was forced out of their country, is attracted to the strong girl who questions the existence of ‘prince’ whereas the most poverty-ridden boy is regarded as hero of the gang.

Children’s world seems definitely different from that of adults’.

Children of Bangyikan are no different from their peers at L’île St. Louis. They wish for good company, learn and grow up together. Wisdom is not obtained through textbooks but along their play. The Rossignols are inspired by their teacher introducing a whole city beneath their homes and playground, under Notre Dame de Paris and Paris Opera. What excitement! They are ready to move forward into the realm unknown. Courage is what they need to acquire to shed any anticipated fear.

Six months ago, our children actors got started from nowhere : chaos, lack of discipline, communication failure due to such short span of concentration—a symptom common among our growing generation. Some of these temple-school students were so self-conscious they could hardly move, hardly realized what they were saying. Today, they deliver crisp, clear, and communicable dialogue...with meaning.

Each member of our children cast took different length of time to arrive at the turning point. Practicing and rehearsing repeatedly, same sentences, same situations, same stories, in the same space. Then one day, repetition, boredom, and exhaustion has turned into understanding. They now have learned what commitment means and that working as a team, with their contribution, is the key to success.

Their choice in joining this musical project was not easy; most of them already have to struggle in their daily lives. Many come from troubled or needy families: school homeworks, household chores, even paid job, on top of daily rehearsals. It was tough.

Their choice in joining this musical project was not easy; most of them already have to struggle in their daily lives. Many come from troubled or needy families: school homeworks, household chores, even paid job, on top of daily rehearsals. It was tough.

The story of friendship and dream of the Rossignols has more or less entered the inner-self of our Bangyikan children and will remain there even when the curtain is closed at the end of show. So many times we have witnessed changes brought by arts and theatre projects to these underprivileged youth in poor areas, in migrant camps, in homes for the abused, in juvenile centres, or in left-out remote villages. The sleeping creativity within was woken up, encouraging them to realize that life is meaningful, beautiful, and valuable.

We, who have ignited that first light in them, cannot afford to just relish a flash of fantastic fireworks and let it die down into eternal darkness.

Cast & Production Team

ผู้แสดงและคณะทำงาน

Children Cast

นักแสดงเยาวชน

Musicians

นักดนตรี

Choir

นักร้องประสานเสียง

Production

ฝ่ายละคร

Music

ฝ่ายดนตรี

Conductor & Director

วาทยากร และ ผู้กำกับ

Video

วิดีโอ

ขบวนการนกกางเขน


ห้องเรียนของครูบูร์แด็ง


สนามเด็กเล่น


เจ้าชาย


นิโกลาส์


ชั้นเรียนของครูปาสซาต์


ห้องใต้ดิน


สมาชิกใหม่ของขบวนการ


นกกางเขนติดกรง


อาณาจักรใต้ดิน


การสอบสวนของผู้ปกครอง


ชั่วพริบตา


นกกางเขนกลับคืน


สมบัติมากมาย


บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ


บทสัมภาษณ์นักแสดง เยาวชน


Lyrics

เนื้อเพลง

Contact Us

Princess Galyani Vadhana Institute of Music

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

2010, ซอย อรุณอมรินทร์ 36, ถนนอรุณอมรินทร์, แขวงบางยี่ขัน, เขตบางพลัด, กรุงเทพมหานคร 10700

Phone: 02-447-8597

FAX:02-447-8598

E-mail: reservation@pgvim.ac.th